วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สถานที่ท่องเทียว จ.พระนคนศรีอยุธยา

อยุธยา นครประวัติศาสตร์ เมืองมรดกโลก
หากให้นึกถึงจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นโบราณสถาน เชื่อว่าหลายคนเป็นต้องนึกถึง "จังหวัดพระนครศรีอยุธยา" เป็นแน่ เพราะที่นี่มีทั้งวัด และพระราชวังต่างๆ มากมาย... ว่าแล้ววันนี้เราถือโอกาสดีๆ พาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า "อยุธยา" กันดีกว่า... เริ่มกันที่ประวัติเก่าแก่คร่าวๆ ของที่นี่กันก่อน... 417 ปีแห่งการเป็นราชธานีเก่าแก่ของสยามประเทศ ประกอบด้วย ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททอง และราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น 33 พระองค์ โดยมีปฐมกษัตริย์ คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระนครศรีอยุธยาจึงนับเป็นราชธานีที่มีอายุยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ตลอดระยะเวลา 417 ปี ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งราชอาณาจักรไทย มิได้เป็นเพียงช่วงแห่งความเจริญสูงสุดของชนชาติไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสรรค์อารยธรรมของหมู่มวลมนุษยชาติ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่นานาอารยประเทศอีกด้วย แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะถูกทำลายเสียหายจากสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือจากการบุกรุกขุดค้นของพวกเรากันเอง แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้ ยังมีร่องรอยหลักฐานซึ่งแสดงอัจฉริยภาพและความสามารถอันยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษแห่งราชอาณาจักร ผู้อุทิศตนสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรม และความมั่งคั่งไว้ให้แก่ผืนแผ่นดินไทย หรือแม้แต่ชาวโลกทั้งมวล... จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 76 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 2,556 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยสถานที่สำคัญต่างๆ มากมาย รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอีกเพียบ ว่าแล้วเราไปดูพร้อมๆ กันเลยดีกว่า ว่าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเนี่ยมีที่ไหนน่าสนใจกันบ้าง...
พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ (พระราชวังบางปะอิน)
"พระราชวังบางปะอิน" อยู่ห่างจากเกาะเมืองมาทางทิศใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร ได้รับการบูรณะฟื้นฟูในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งสำหรับเป็นที่ประทับ มีเรือนแถวสำหรับฝ่ายในและมีพลับพลาริมน้ำ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้น ดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้ ซึ่งยังคงใช้เป็นที่ประทับและต้อนรับพระราชอาคันตุกะ และพระราชทานเลี้ยงรับรองในโอกาสต่างๆ เป็นครั้งคราว พระราชวังบางปะอินแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เขตพระราชฐานชั้นนอกและเขตพระราชฐานชั้นใน เขตพระราชฐานชั้นนอกใช้เป็นที่สำหรับการออกมหาสมาคมและพระราชพิธีต่างๆ ส่วนเขตพระราชฐานชั้นในใช้เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ พระราชวังบางปะอิน เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น. (เปิดจำหน่ายบัตร 08.00 – 16.00 น.) อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก นักเรียน นิสิตนักศึกษา (ในเครื่องแบบ ต้องมีบัตรประจำตัวนักศึกษา) 20 บาท พระภิกษุ สามเณร ไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างประเทศ 100 บาท มีทางลาดสำหรับผู้พิการและรถกอล์ฟให้เช่า นอกจากนี้ยังมีบริการเรือ River Jet ออกจากท่าเรือพระราชวังบางปะอิน ล่องรอบเกาะวัดนิเวศธรรมประวัติ ใช้เวลาประมาณ 25 นาที ระหว่างเวลา 9.00 - 15.00 น. (วันเสาร์ - อาทิตย์ ถึง 16.00 น. เรือออกทุกชั่วโมง หยุดวันพุธ – วันพฤหัสบดี) ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพระราชวังบางปะอิน โทร. 0-3526-1044, 0-3526-1549, 0-3526-1673
วัดพระศรีสรรเพชญ์
ต่อกันที่ "วัดพระศรีสรรเพชญ์" เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวง เทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานคร หรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับที่บริเวณนี้ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายพระราชวังขึ้นไปทางเหนือ และอุทิศที่ดินเดิมให้สร้างวัดขึ้นภายในเขตพระราชวัง และโปรดเกล้าฯให้สร้างเขตพุทธาวาสขึ้น เพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพิธีสำคัญต่างๆ จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์ใหญ่สององค์เมื่อ พ.ศ.2035 องค์แรกทางทิศตะวันออกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดา และองค์ที่สองคือองค์กลางเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา ต่อมาในปี พ.ศ. 2042 ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่และในปี พ.ศ.2043 ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง 8 วา (16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร พระนามว่า "พระศรีสรรเพชญดาญาณ" ซึ่งภายหลังเมื่อคราวเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด ในสมัยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญชิ้นส่วนชำรุดของพระประธานองค์นี้ลงมากรุงเทพฯ และบรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นแล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า "เจดีย์สรรเพชญดาญาณ" สำหรับเจดีย์องค์ที่สามถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เจดีย์สามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา ระหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั่นไว้ ซึ่งคงจะมีการสร้างในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และมีร่องรอยการบูรณะปฏิสังขรณ์หนึ่งครั้งในราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มีการบูรณะเจดีย์แห่งนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน วัดพระศรีสรรเพชญ์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00 – 18.30 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 40 บาท ชาวต่างประเทศ 220 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน อันได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดมเหยงค์ วัดไชยวัฒนาราม, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานศิลปากรที่ 3 โทร. 0-3524-2501, 0-3524-2448 หรือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โทร. 0-3524-2284, 0-3524-2286
วัดไชยวัฒนาราม
"วัดไชยวัฒนาราม" ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง เป็นวัดที่พระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่ 24 (พ.ศ. 2173 - 2198) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2173 ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีความงดงามมากแห่งหนึ่งในกรุงศรีอยุธยา ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ วัดนี้เป็นที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลายกับเจ้าฟ้าสังวาลย์ ซึ่งต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สำหรับสิ่งที่น่าชมภายในวัด ได้แก่ พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ เป็นปรางค์ประธานของวัด ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสและที่มุมฐานมีปรางค์ทิศประจำอยู่ทั้งสี่มุม การที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งเป็นกษัตริย์สมัยอยุธยาตอนปลาย ทรงสร้างปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัด เท่ากับเป็นการรื้อฟื้นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ที่นิยมสร้างปรางค์เป็นประธานของวัดเช่นการสร้างปรางค์ที่วัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ เนื่องมาจากพระองค์ทรงได้เขมรมาอยู่ใต้อำนาจ จึงมีการนำรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรเข้ามาใช้ในการก่อสร้างปรางค์อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีพระระเบียงรอบปรางค์ประธาน ภายในพระระเบียงมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ผนังระเบียงก่อด้วยอิฐถือปูน มีลูกกรงหลอกเป็นรูปลายกุดั่น พระอุโบสถ อยู่ด้านหน้าของวัดภายในมีซากพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยหินทราย ใบเสมาของพระอุโบสถทำด้วยหินสีค่อนข้างเขียว จำหลักเป็นลายประจำยามและลายก้านขด และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ทางด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ 2 องค์ ฐานกว้าง 12 เมตร สูง 12 เมตร ซึ่งถือเป็นศิลปะที่เริ่มมีแพร่หลายตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทั้งนี้ วัดไชยวัฒนาราม เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30 – 16.30 น
วัดใหญ่ชัยมงคล
"วัดใหญ่ชัยมงคล" เดิมชื่อวัดป่าแก้ว หรือวัดเจ้าพระยาไทย ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วจะเห็นเจดีย์วัดสามปลื้ม (เจดีย์กลางถนน) ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นวัดใหญ่ชัยมงคลอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้ร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งสุดท้าย และเพิ่งจะตั้งขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาเมื่อไม่นานมานี้ นอกจากนี้ ยังมีวิหารพระพุทธไสยาสน์สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร เพื่อเป็นที่ถวายสักการะบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน ปัจจุบันมีการสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีผู้นิยมไปนมัสการอย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนมาก ค่าเข้าชม ต่างชาติ คนละ 20 บาท "ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร" ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ภายในศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ประกอบด้วยสถานที่และสิ่งที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ ศาลาพระมิ่งขวัญ เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ จตุรมุขสูง 4 ชั้น ตั้งตระหง่านอยู่กลางศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ชั้นล่าง เป็นศูนย์สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ ของศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯและศูนย์ศิลปาชีพอื่นๆ ทั่วประเทศ ชั้นที่ 2 และ ชั้นที่ 3 เป็นนิทรรศการผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพชิ้นยอดเยี่ยมของศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ชั้นที่ 4 เป็นห้องประชุมสัมนา เปิดให้ชมทุกวัน วันธรรมดา 09.00 - 17.00 น. วันหยุดราชการ 09.00 - 18.00 น. (ไม่เสียค่าเข้าชม) "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา" ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ถนนโรจนะ ตรงข้ามกับสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นด้วยเงินที่ประชาชนเช่าพระพิมพ์ที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้าง จึงให้ชื่อว่า "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2504 และที่นี่เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีรูปแบบการจัดแสดงแบบใหม่ คือ นำโบราณวัตถุมาจัดแสดงจำนวนไม่มากจนเกินไป และใช้แสง สี มาทำให้การนำเสนอดูน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม โบราณวัตถุเหล่านี้แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีตไว้อย่างน่าชื่นชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เปิดให้เข้าชมวันพุธ - วันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.00 น. ปิดวันจันทร์และวันอังคาร อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-3524-1587 "คุ้มขุนแผน" ตั้งอยู่ที่ถนนป่าโทน เป็นตัวอย่างของหมู่เรือนไทยภาคกลาง ในรูปแบบเรือนคหบดีไทยสมัยโบราณ เดิมเป็นจวนสมุหเทศาภิบาล มณฑลกรุงเก่า พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ทรงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2437 ที่เกาะลอยบริเวณสะพานเกลือ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการมณฑล ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2483 ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ได้ย้ายจวนหลังนี้มาสร้างในบริเวณคุกนครบาลเก่าของพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งสร้างเรือนไทยเพิ่มขึ้นอีกในปี พ.ศ. 2499 และให้ชื่อเรือนไทยนี้ว่า "คุ้มขุนแผน" ซึ่งเชื่อกันว่าขุนแผนเคยต้องโทษอยู่ในคุกแห่งนี้ "ตลาดลาดชะโด" เป็นตลาดเก่าแก่ในเขตอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีอายุกว่า 100 ปี ลักษณะตลาดลาดชะโดเป็นเรือนแถวขนาดใหญ่หันหน้าเข้าหากัน ทางเดินกว้างขวาง ในอดีตเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางน้ำ คึกคักไปด้วยผู้คนที่มาทำการค้าขายระหว่างกัน ด้วยความน่าสนใจและเสน่ห์ของตลาดเก่าแห่งนี้ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมเป็นระยะ ทั้งยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ไทยและละครโทรทัศน์หลายเรื่อง หากมาเที่ยวตลาดลาดชะโดในวันเสาร์ – อาทิตย์ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อหาสินค้าและอาหารที่ชาวบ้านนำมาจำหน่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ก๋วยเตี๋ยวเรือ ก๋วยจั๊บ ขนมไทย ปลาแห้ง ปลาย่าง สามารถแวะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ในอดีต และล่องเรือชมวิถีชีวิตริมคลองลาดชะโด การยกยอ ทอดแห บ้านเรือนไทยริมน้ำ ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลตำบลลาดชะโด โทร.0-3574-0263 – 4 "หมู่บ้านญี่ปุ่น" ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเรียน เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยามีจำนวนมากขึ้น ทางการญี่ปุ่นได้อนุญาตให้ชาวญี่ปุ่นเดินเรือออกไปค้าขายกับชาวต่างชาติ ในบรรดาพวกที่ไปค้าขายมีพวกหนึ่งเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินไทยมีพระบรมราชานุญาตให้ชาวญี่ปุ่น มาตั้งหลักแหล่งในกรุงศรีอยุธยารอบนอกเกาะเมืองเหมือนชาติอื่นๆ นับตั้งแต่นั้นมาก็มีชาวญี่ปุ่นเข้ามาอาศัยอยู่ในอยุธยามากขึ้น โดยมีหัวหน้าปกครองในกลุ่มตน หัวหน้าชาวญี่ปุ่นในขณะนั้น คือ นากามาซา ยามาดา เป็นผู้มีอำนาจและเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จนได้รับแต่งตั้งเป็นออกญาเสนาภิมุขรับราชการ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจนสิ้นชีวิต ปัจจุบันสมาคมไทย - ญี่ปุ่นได้สร้างหุ่นจำลอง นากามาซา ยามาดา และจารึกประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหมู่บ้านญี่ปุ่นในสมัยกรุงศรีอยุธยามาตั้งไว้ภายในหมู่บ้าน มีอาคารจัดแสดงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับต่างประเทศ แบ่งออกเป็นอาคาร 9 ส่วน ประกอบด้วยบอร์ดนิทรรศการ การจัดแสดงสิ่งของและวีดีทัศน์ 3 ภาษา เปิดเวลา 08.30 - 16.30 น. ค่าเข้าชมคนไทย 20 บาท ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-3524-5336 "หมู่บ้านโปรตุเกส" ตั้งอยู่ที่ตำบลสำเภาล่ม บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก ห่างจากเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2054 โดยอัลฟองโซ เดอ อัลบูเคอร์ก ผู้สำเร็จราชการของโปรตุเกส ประจำเอเซีย ได้ส่งนายดูอาร์เต้ เฟอร์นันเดส เป็นทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขายและเป็นทหารอาสาในกองทัพกรุงศรีอยุธยา สร้างโบสถ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่ศาสนาและเป็นศูนย์กลางของชุมชน ปัจจุบันบริเวณนี้ยังมีร่องรอยซากสิ่งก่อสร้างปรากฏให้เห็น คือ โบราณสถานซานเปโตร หรือเรียกในสมัยอยุธยาว่า โบสถ์เซนต์โดมินิค เป็นโบสถ์ในคณะโดมินิกัน นับเป็นโบสถ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในแผ่นดินไทยเมื่อปี พ.ศ. 2083 ตั้งอยู่ในบริเวณเกือบกึ่งกลางหมู่บ้านโปรตุเกส มีเนื้อที่ประมาณ 2,400 ตารางเมตร ยาวตามแนวทิศตะวันออกไปตะวันตกหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนหน้าเป็นสุสาน ของชาวคาทอลิคคณะโดมินิกัน ส่วนกลางใช้ประกอบพิธีทางศาสนาและฝังศพบาทหลวง ส่วนในด้านหลังเและด้านข้างเป็นที่พักอาศัยและมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ กล้องยาสูบ เหรียญกษาปณ์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับกำไลแก้วและเครื่องประกอบพิธีทางศาสนาเช่น ไม้กางเขน เหรียญรูปเคารพในศาสนา ลูกประคำ ในส่วนของสุสานได้รับการบูรณะในปี พ.ศ. 2527 มีการขุดแต่งปรับปรุงสถานที่อย่างสวยงาม และสร้างอาคารมีหลังคาคลุมสุสานที่มีโครงการกระดูกจำนวนมากถึง 254 โครง ฝังเรียงรายอย่างเป็นระเบียบและทับซ้อนกันหนาแน่นทั้งภายในและภายนอกอาคาร จากแนวโครงกระดูกที่พบแบ่งขอบเขตสุสานออกเป็น 3 ส่วน ส่วนในสุดกลางตัวอาคารที่เป็นฐานโบสถ์ อาจเป็นโครงกระดูกของบาทหลวงหรือนักบวช ถัดมาส่วนที่สองส่วนนี้อาจเป็นผู้มีฐานะทางสังคมในค่ายโปรตุเกสสูงกว่าคนธรรมดาทั่วไป ส่วนที่สามนอกแนวฐานโบสถ์มีการฝังซ้อนกันมากถึง 3 - 4 โครง โครงกระดูกเหล่านี้มีทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และบางส่วนชำรุด จากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ กล่าวถึงการเกิดโรคระบาดร้ายแรงในปลายแผ่นดินพระเพทราชา เมื่อปีพ.ศ. 2239 มีผู้คนล้มตายมาก และในปี พ.ศ. 2255 ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระก็เกิดโรคระบาดอีกครั้ง มีผู้คนล้มตายมาก อาจเป็นเหตุให้มีการขยายสุสานออกมาจากเดิม ฮั่นแน่!! เริ่มซึมซับสถานที่ท่องเที่ยวในประวัติศาสตร์กันจนเพลินเลยใช่ไหมล่า อันที่จริงในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจและน่าไปท่องเที่ยวอีกมากมาย รวมทั้งวัดและพระราชวังต่างๆ หากอยากรู้ว่าดีและสวยงามแค่ไหน ต้องลองไปพิสูจน์ด้วยตัวคุณเองค่ะ